โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบปรับปรุงและแก้ไขปัญหาการจราจร
บนทางหลวงหมายเลข 401 ช่วง แยกเตาหม้อ-คลองเคย

ความเป็นมาของโครงการ
ทางหลวงหมายเลข 401 เป็นทางหลวงสายหลักที่สำคัญอย่างมาก เชื่อมโยงระหว่างจังหวัดสุราษฎร์ธานีกับจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีเส้นทางเริ่มจาก อำเภอตะกั่วป่า ปัจจุบันเริ่มมีปัญหาการติดขัดของการจราจรโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วนเนื่องจากบริเวณสองข้างทางมีชุมชนหนาแน่น และมีสถานที่สำคัญหลายแห่ง ทั้งพื้นที่ธุรกิจ และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญโดยเฉพาะบริเวณอำเภอท่าศาลา ทำให้เกิดความไม่สะดวกและล่าช้าในการเดินทาง อีกทั้งทางหลวงสายนี้ยังมีข้อจำกัดทางด้านพื้นที่ในการขยายถนน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องมีการสำรวจและออกแบบปรับปรุงแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางหลวงหมายเลข 401 ช่วงดังกล่าวและโครงข่ายทางหลวงใกล้เคียงทำให้สามารถเดินทางสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งการตรวจสอบพื้นที่โครงการเบื้องต้นพบว่า แนวเส้นทางโครงการผ่านโบราณสถานในระยะไม่เกิน 1 กิโลเมตร จึงเข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดขนาดโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจักทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 48 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 และ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2561 ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติข้างต้น ทั้งนี้ เพื่อให้การพัฒนาโครงการก่อเกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งประชาชนที่อยู่บริเวณพื้นที่โครงการน้อยที่สุด
วัตถุประสงค์ของการศึกษาโครงการ
1) เพื่อดำเนินการสำรวจและออกแบบรายละเอียดทางด้านวิศวกรรมให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ โครงข่ายทางหลวง และปริมาณการจราจรในอนาคต พร้อมระบบระบายน้ำ สาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องและส่วนประกอบอื่นๆ ที่จำเป็นโครงการสำรวจและออกแบบปรับปรุงและแก้ไขปัญหาการจราจร บนทางหลวงหมายเลข 401 ช่วง แยกเตาหม้อ-คลองเคย
ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร
2) เพื่อปรับปรุงให้มีช่องจราจรที่เหมาะสม สอดคล้องกับระดับการให้บริการ ปรับปรุงทางแยก จุดกลับรถ และโครงสร้างชั้นทางเดิมให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ โครงข่ายทางหลวง และปริมาณการจราจรในอนาคต
3) เพื่อแก้ไขการจราจรที่หนาแน่นและลดอุบัติเหตุ อำนวยความสะดวก ความปลอดภัยในการสัญจรและพัฒนาคุณภาพการให้บริการของระบบทางหลวง
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ
1) เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด และรองรับปริมาณการจราจรในอนาคต
2) พัฒนาโครงข่ายคมนาคมของจังหวัดนครศรีธรรมราช และพื้นที่ใกล้เคียงให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
3) ช่วยอำนวยความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยในการเดินทางของผู้ใช้เส้นทางอย่างเป็นรูปธรรม